เด็กใต้ฟันผุกว่า 80% ใช้หนังตะลุงร่วมแก้ปัญหา

News

ผืนหนังฉลุลวดลายตัวละครที่ถูกเชิดตามจังหวะเสียงกลอง ทับ โหม่ง และฉิ่ง อย่างมีชีวิตชีวาไม่แพ้ตัวการ์ตูนบนหน้าจอโทรศัพท์ และมาพร้อมกับเสียงพากย์จากนายหนังที่คอยเรียกเสียงหัวเราะ จนคนดูลืมก้มดูข่าวสารบนหน้าจอที่ไม่เคยหยุดเคลื่อนไหวไปชั่วขณะ  อาจเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนภาคอื่นเวลาเห็นศิลปะการแสดงท้องถิ่นที่ยังได้รับความสนใจไม่แพ้สื่อสมัยใหม่ แต่สำหรับพี่น้องภาคใต้นั้นเป็นเรื่องปกติเวลาดูหนังตะลุง เพราะหนังตะลุงเป็นมากกว่าศิลปะการแสดง แต่เป็นทั้งเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ของความผูกพันที่มีอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคที่ยังใช้คบทางมะพร้าว ตะเกียงมันวัว ขี้ไต้น้ำมันยาง ตะเกียงเจ้าพายุ จนถึงยุคเครื่องปั่นไฟและยุคไฟฟ้าในปัจจุบัน


เด็กใต้ฝันผุกว่า 80%


หอมฟันจึงร่วมมือกับโรงหนังตะลุง

นอกจากนี้หนังตะลุงไม่เพียงแต่ให้ความบันเทิง แต่ยังสอดแทรกข่าวสาร สั่งสอนจริยธรรม สร้างความสัมพันธ์ในชุมชน บันทึกประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น รวมถึงเป็นโฆษณาทางการเมืองอีกด้วย หนังตะลุงจึงมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ เช่น ตัวละครแต่งตัวตามแฟชั่น มีมุกตลกล้อการเมืองในเวลานั้น  ที่สำคัญยังเป็นศิลปะท้องถิ่นที่ถูกถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา ดังเช่น คณะหนังตะลุงน้องเดียวลูกทุ่งวัฒนธรรม ที่มีน้องเดียวหรือนายบัญญัติ สุวรรณแว่นทอง นายหนังผู้มีความพิการทางสายตา และได้รับความนิยมอย่างสูง การแสดงแต่ละครั้งมีผู้ชมจำนวนมาก มีบันทึกการแสดงเผยแพร่ทางออนไลน์ บางเรื่องมียอดการรับชมการแสดงมากกว่าเจ็ดล้านครั้ง


แก้ปัญหาฟันผุในเด็ก


ด้วยเรื่องเล่าผ่านแผ่นหนัง

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อได้ยินว่า ตอนนี้หนังตะลุงยังถูกนำมาใช้เป็นสื่อรณรงค์ด้านสุขภาพ เพื่อแก้ปัญหาฟันผุในเด็กพื้นที่ภาคใต้ซึ่งกำลังทวีความรุนแรง โดยเริ่มต้นจากคณะทันตแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ซึ่งทำงานในพื้นที่ และพบว่า เด็ก ๆ ในภาคใต้กว่า 80% มีปัญหาฟันผุ


เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เข้าถึงง่าย


เด็กๆ สนุกกับสื่อการสอนที่ได้ชม

คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงชวนกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ห่วงใยสุขภาพคนไทยเสมอมา ร่วมกันทำแคมเปญรณรงค์ “แปรงฟันป้องกันอนาคตลูกผุ” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหานี้  โดยหนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้น คือการนำหนังตะลุงมาสร้างสรรค์เป็นคลิปความรู้ “เจ้าชายสู้ฟันผุ” โดยได้รับเกียรติจากนายณรงค์ จันทร์พุ่ม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หนังตะลุง) พศ.2557

มาเป็นนายหนังร่วมกับ ทพญ.รัศมิ์ศิวรรณ์ นวนศรี ทันตแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลย่านตาขาว คุณหมอแอล หมอฟันประจำอำเภอย่านตาขาวจังหวัดตรัง  ถ่ายทอดเรื่องราวของเจ้าชายและคุณหมอที่มาช่วยเด็ก ๆ ที่มีปัญหาฟันผุ ด้วยการมอบแปรงสีฟัน สอนการแปรงที่ถูกวิธี และเน้นย้ำเรื่องการดูแลฟันตั้งแต่ฟันน้ำนม  การใช้หนังตะลุงเป็นเครื่องมือสร้างความเปลี่ยนแปลง คือตัวอย่างที่ดีของการเลือกรับ ปรับใช้สื่อให้เหมาะกับสภาพสังคมนั้น และเมื่อประกอบกับการช่วยกันคิด และช่วยกันลงมือทำ ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีปัญหาไหนที่ยากเกินกว่าจะแก้ไขได้