ชะอมถือเป็นพืชผักพื้นบ้านที่มีกลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ นำไปทำอาหารคาวหรือแนมเป็นผักสดกินคู่กับกับข้าวอร่อยนักแล ไอเดียเกษตร วันนี้จะพามาดูวิธีการปลูกชะอมยังไง ให้ไม่มีหนามสามารถเก็บได้ง่าย โดยไอเดียการปลูกชะอมไร้หนามเจ้าแรกๆคือเกษตรกรตัวอย่าง คุณดอกไม้ ชาวพิจิตร ที่จะมาเผยเคล็ดลับดังนี้
การขยายพันธุ์ ชะอมไร้หนาม
ป้าดอกไม้ ได้บอกถึงวิธีการขยายพันธุ์ชะอมไร้หนาม จะแบ่งเป็น 2 วิธี คือ การตอนกิ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่า เพราะรวดเร็วและออกรากได้ดี โดยคัดเลือกกิ่งที่จะตอนไม่ให้แก่และอ่อนจนเกินไป ขั้นตอนเหมือนกับการตอนไม้ผลทั่วไป คือเลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนที่สมบูรณ์ปราศจากโรคและแมลง ควั่นกิ่งด้านบนและด้านล่าง ให้ห่างกันสัก 3-4 เซนติเมตร ใช้ปลายมีดลอกเอาเปลือกชะอมออก แล้วขูดเยื่อเจริญที่เป็นเมือกลื่นๆ ออก จะทาด้วยน้ำยาเร่งรากหรือไม่ก็แล้วแต่ เพราะชะอมเป็นพืชที่ออกรากได้ง่าย
แต่ถ้าทาด้วยน้ำยาเร่งรากก็จะยิ่งดีขึ้นอีก หุ้มด้วยขุยมะพร้าวที่แช่น้ำมาล่วงหน้าสัก 1 คืน แล้วบีบน้ำออกให้หมาดน้ำ อัดลงในถุงพลาสติก เมื่อทำแผลตอนเสร็จ ผ่าครึ่งถุงพลาสติกที่อัดขุยมะพร้าวและนำไปหุ้มบริเวณที่ลอกเปลือก มัดด้วยเชือกหรือตอกไม้ไผ่ ทั้งบนและล่างรอยแผลตุ้มตอนให้แน่น หลังจากนั้น ประมาณ 40-50 วัน เมื่อกิ่งตอนมีรากเต็มตุ้มตอนและเริ่มแก่เป็นสีเหลืองอมสีน้ำตาล ปลายรากมีสีขาว และมีจำนวนรากมากพอ จึงตัดกิ่งตอนได้ ก็สามารถตัดไปปลูกในแปลงได้เลย ไม่ต้องชำลงถุงให้เสียเวลา เมื่อนำกิ่งตอนปลูกลงดิน ต้นชะอมจะตั้งตัวได้เร็ว
การจำหน่ายกิ่งตอนจึงจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ที่สร้างเงินสำหรับการทำไร่ชะอมไร้หนาม หรือจะชำลงถุงดำ เลี้ยงให้แข็งแรงก่อนนำไปปลูกหรือรอการจำหน่าย
ส่วนการขยายพันธุ์อีกวิธีหนึ่งคือ การปักชำ ป้าดอกไม้ จะเลือกกิ่งชะอมไร้หนามมาปักชำนั้นจะต้องเลือกกิ่งที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป โดยดูลักษณะจากสีกิ่งจะมีสีขาวจนถึงขาวอมเขียว หรือกิ่งที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 1 ปี นับแต่วันที่แตกยอดออกมา แต่ต้องไม่เป็นกิ่งที่แก่จัดนเกินไป เพราะรากและยอดจะแตกน้อย ตัดเป็นท่อนให้มีความยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ชำลงในถุงดำที่มีขี้เถ้าแกลบดำเป็นวัสดุปลูกหลัก
เทคนิคในการปักท่อนพันธุ์ ควรจะให้กิ่งเอียง ประมาณ 45 องศา ปักให้ลึกลงไปในขี้เถ้าแกลบ 10 เซนติเมตร นำกิ่งที่ปักชำมาวางไว้บริเวณที่มีแสงรำไรหรือมีซาแรนพรางแสง 60 เปอร์เซ็นต์ รดน้ำให้ชุ่มอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หลังจากปักชำไปได้ประมาณ 45-60 วัน กิ่งชำจะมีรากและใบอ่อนแตกออกมา
แต่ป้าดอกไม้ไม่นิยมขยายพันธุ์ชะอมไร้หนามด้วยวิธีการปักชำ เนื่องจากพบว่าต้นชะอมไร้หนามที่ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ เมื่อนำมาปลูกลงแปลงจะเจริญเติบโตช้ากว่าปลูกด้วยกิ่งตอน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะปริมาณรากจะน้อยกว่ากิ่งชะอมที่ได้จากกิ่งตอน อย่างไรก็ดี มีข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการนำกิ่งชะอมไร้หนามที่ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำเพื่อปลูกลงแปลง ควรจะปลูกในช่วงฤดูฝน จะพบอัตราการรอดตายสูง
การปลูก และการบำรุงรักษา
9.ชะอมไร้หนาม ที่มัดเข้ากำ พร้อมส่งขายต
สำหรับเกษตรกรที่เริ่มต้นปลูกชะอมไร้หนามในแปลงใหม่ ป้าดอกไม้ได้แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการเตรียมพื้นที่ปลูก โดยการไถพรวน ปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ ถ้าเป็นที่ลุ่มต่ำให้ยกแปลงเพื่อป้องกันน้ำขังแฉะ นิสัยชะอมชอบน้ำแต่กลัวน้ำขังแฉะ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรครากเน่าโคนเน่า
หลังจากนั้น ขุดหลุมปลูกให้มีความกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 20 เซนติเมตร ผสมดินที่ขุดมาจากหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า อัตรา 2 กำมือ และคลุกเคล้าปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ เช่น 16-16-16, 19-19-19 ฯลฯ ลงไป อัตรา 1 ช้อนแกง ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 1×1 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะสามารถปลูกต้นชะอมไร้หนามได้ ประมาณ 1,600 ต้น ซึ่งป้าดอกไม้ อธิบายว่าเป็นระยะปลูกที่กำลังดี ทำให้สะดวกในการเดินเก็บยอด
การปลูกหลังจากที่ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 10 เซนติเมตร หรือขุดดินราว 1 หน้าจอบ คลุกเคล้าผสมปุ๋ยเสร็จเรียบร้อยที่ปากหลุม นำกิ่งตอนชะอมไร้หนามที่เตรียมไว้ แกะถุงพลาสติกที่หุ้มรากออก วางกิ่งชะอมให้อยู่ส่วนกลางของหลุม กลบดินและอัดให้แน่น รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือนแรกที่ปลูก
ต้นชะอมไร้หนามจะตั้งตัวได้และพบการแตกยอดอ่อนเป็นพุ่มและสามารถเก็บเกี่ยวยอดส่งขายได้เลย ซึ่งป้าดอกไม้อธิบายว่า ชะอม เป็นพืชที่หลังจากปลูกไม่นานก็จะแตกยอดให้เก็บได้ทันทีในช่วงเวลา 1 เดือนเศษเท่านั้น แต่จะเริ่มให้ผลผลิตแบบเต็มที่ในราวๆ 5-6 เดือนขึ้นไปหลังการปลูก เพราะต้นชะอมจะเริ่มเป็นทรงพุ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ป้าดอกไม้บอกว่าเมื่อต้นชะอมตั้งตัวได้แล้วการตัดยอด ตัดได้ทุกๆ 3-5 วัน สำหรับต้นชะอมเล็ก
แต่ถ้าเป็นต้นชะอมใหญ่ที่มีอายุต้นเกิน 1 ปี จะเก็บยอดได้ทุกๆ 2-3 วัน ในกรณีที่เก็บยอดครั้งแรกไปแล้วหรือกรณีที่เกษตรกรตัดยอดไม่ทันหรือยอดเดิมเมื่อแก่เกินไป ยอดอ่อนใหม่จะโตมาแทนที่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บยอดชะอมจะต้องใช้กรรไกรตัดแทนการใช้มือเด็ด นอกจากสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดรอยแผลช้ำที่ยอดด้วย
เนื่องจากการปลูกชะอมไร้หนามจะต้องมีการเก็บยอดเป็นประจำ ระบบการให้น้ำจะจำเป็นมาก จะต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นต้นที่ปลูกใหม่ จะให้น้ำ อาทิตย์ 2-3 ครั้ง (การให้น้ำสังเกตจากหน้าดินและสภาพอากาศประกอบ เช่น ในหน้าร้อน ก็ต้องให้น้ำบ่อยขึ้น เป็นต้น) แต่ถ้าเป็นต้นชะอมอายุเกิน 1 ปี ไปแล้ว ก็จะให้น้ำน้อยลง จะเหลือเพียง 10-15 วันครั้งเท่านั้น เพราะใบจะปกคลุมดิน ทำให้ดินรักษาความชื้นได้นาน อีกอย่างหากช่วงไหนที่จะต้องการช่วยให้ชะอมแตกยอดได้ดีหรือถ้าเห็นว่าชะอมมีราคาสูง การเปิดน้ำช่วยร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมี ยูเรีย 46-0-0 จะช่วยกระตุ้นการแตกยอดได้ดีมาก
ที่แปลงปลูกชะอมไร้หนามของ ป้าดอกไม้ อินอ้น จะใช้ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ที่ยกสูงมาจากพื้นดิน ประมาณ 1.50 เมตร โดยให้มีความสูงกว่าต้นชะอม ประโยชน์ทางหนึ่งนอกจากสะดวกเรื่องการให้น้ำคือ มองเห็นระบบน้ำว่าทำงานได้ดี ไม่รั่วหรืออุดตัน ถ้าอยู่ข้างล่างใต้ต้นชะอม อาจจะมองไม่เห็น